วิสัยทัศน์
"อำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม"
อำนวยความยุติธรรม หมายถึง ประชาชนได้รับการบริการงานยุติธรรมอย่างโปร่งใส สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ลดความเหลื่อมล้ำ หมายถึง ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงการให้บริการงานยุติธรรมอย่างเสมอภาค เท่าเทียม ทั่วถึง เป็นธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ
สร้างความเป็นธรรมในสังคม หมายถึง สังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีความเป็นธรรม และสงบสุข
พันธกิจ
1. กำหนดนโยบายและแผน ทิศทางการพัฒนา และบูรณาการงานยุติธรรม
2. ให้บริการงานยุติธรรมเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม
3. เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม
4. พัฒนาพฤตินิสัยผู้กระทำผิดให้เป็นคนดี และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข
เป้าประสงค์
1. นโยบายและแผนในงานยุติธรรมมีความทันสมัย สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
2. ประชาชนได้รับการช่วยเหลือจากการให้บริการงานยุติธรรมอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม
3. ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายและมีความเชื่อมั่นต่อกระทรวงยุติธรรม
4. ผู้กระทําผิดได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างเป็นปกติสุข
อำนาจหน้าที่
มาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมไว้ว่า
“ให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมเสริมสร้างและอำนวยความยุติธรรมในสังคม
และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม”
สัญลักษณ์ประจำกระทรวงยุติธรรม
ดอกไม้ประจำกระทรวงยุติธรรม ดอกบัวขาว สัญลักษณ์แห่งความยุติธรรมอันบริสุทธิ์
ต้นไม้ประจำกระทรวงยุติธรรม ต้นสนฉัตร สัญลักษณ์แห่งความยุติธรรมที่เป็นแกนหลักแห่งความคิด ในการยืนหยัดในหน้าที่ที่จะอำนวยความยุติธรรมอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

